อัมพวา พันธุ์ไม้ที่อยู่คู่กับอัมพวามานับร้อยปี

อัมพวา หรือมะเปรียง เป็นไม้ผลยืนต้นขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลางที่มีความสูงประมาณ 3-15 เมตร แล้วแต่พื้นที่นั้น ๆ ซึ่งเป็นไม้ที่แตกกิ่งก้านสาขาเยอะมากแต่เป็นพืชที่หายากและใกล้จะสูญพันธุ์ บางต้นมีอายุกว่าร้อยปี โดยสันนิษฐานว่าต้นอัมพวาหรือมะเปรียงนั้นมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศมาเลเซีย พบว่ามีการกระจายพันธุ์อยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอินเดีย ส่วนในประเทศไทยนั้นจะมีการปลูกไว้ในทางภาคกลางและภาคใต้ ซึ่งมักจะปลูกไว้ในสวนบริเวณบ้านเพื่อใช้ประโยชน์ หรือปลูกไว้ในกระถางเพื่อเป็นไม้ประดับ ต้นอัมพวาจะสามารถเติบโตได้ดีในบริเวณชายน้ำ ด้วยความที่ผลของอัมพวานั้นมีลักษณะขรุขระ ชาวภาคใต้จึงเรียกว่าผลลูกคางคก เมื่อร้อยกว่าปีก่อนนั้นมีผู้นำเมล็ดพันธุ์มาปลูกที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และเมื่อชาวบ้านที่นั่นเห็นว่าไม้ชนิดนี้เป็นไม้ที่มีความแปลก อีกทั้งในพื้นที่อื่น ๆ ละแวกใกล้เคียงไม่มีไม้ชนิดนี้ คนในอัมพวาจึงตั้งชื่อไม้ชนิดนี้ว่าอัมพวา เพื่อความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์และก็ยังเชื่ออีกว่าเป็นไม้ประจำถิ่นของอำเภออัมพวามานับร้อย ๆ ปีแล้ว ซึ่งในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวก็จะพบเห็นไม้ชนิดนี้อยู่ไม่ถึง 10 ต้น จึงทำให้ไม่ค่อยมีใครรู้จักนั่นเอง

ต้นอัมพวา ลักษณะ

ข้อมูลทั่วไป


ชื่อสามัญ : Nam nam

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cynometra cauliflora (อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE)

ความเชื่อเกี่ยวกับต้นอัมพวา

อัมพวาเป็นผลไม้โบราณที่หายาก ซึ่งชื่ออัมพวานั้นมีที่มาคือมีคนนำพันธุ์ไม้ชนิดนี้มาจากภาคใต้แล้วมาปลูกไว้ในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อชาวบ้านในละแวกนั้นได้เห็นต้นที่มีผลลักษณะแปลก ๆ เช่นนี้แล้ว ต่อมาก็ได้รู้ว่าในละแวกใกล้เคียงนั้นไม่มีพันธุ์ไม้ชนิดนี้ ทำให้ชาวอัมพวาต่างพากันเรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่าต้นอัมพวานั่นเอง และยังมีความเชื่ออีกด้วยว่าเป็นไม้ที่อยู่คู่กับอัมพวามาอย่างยาวนานกว่าร้อยปี ทำให้คนอัมพวานิยมปลูกไว้ประจำบ้านเพื่อทานผลและใช้ปลูกเป็นไม้ประดับบ้านสวยงามอีกด้วย

ควรปลูกบริเวณใดของบ้าน

อัมพวาเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความชุ่มชื้นตลอด อย่างเช่น ตามสวนที่มีน้ำหล่อเลี้ยง และอัมพวาก็ยังเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดขึ้นง่ายด้วย ดังนั้นหากจะปลูกไว้ในบริเวณบ้านแนะนำให้ปลูกไว้ในพื้นที่ที่มีความชุ่มชื้น ซึ่งเป็นดินที่มีน้ำหล่อเลี้ยงพอสมควร จะทำให้ต้นอัมพวาสามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี และเมื่อต้นอัมพวาโตเต็มที่แล้วมันก็จะทนกับแสงแดดได้อยู่พอสมควร อีกทั้งยังสามารถเป็นร่มเงาได้อีกด้วย

ส่วนประกอบของต้นไม้

ลักษณะของลำต้น

อัมพวาเป็นพันธุ์ไม้ที่มีทรงพุ่มทึบสวยงาม ลำต้นจะมีความสูงประมาณ 3-15 เมตร และเปลือกต้นจะมีสีน้ำตาลเทา ยิ่งต้นมีอายุมากเท่าไร พุ่มก็จะยิ่งแน่นขึ้นเท่านั้น

ใบ

ใบของอัมพวาจะเหมือน 2 ใบคู่กัน แต่จริง ๆ นั้นเป็น 2 ใบย่อยรวมกันเป็น 1 ใบ ซึ่งใบจะมีสีเขียวสดเรียบเป็นมัน ใบอ่อนจะมีสีเขียวอ่อนอมชมพู ลักษณะยาวโค้ง ปลายใบมนแหลมทู่ จะประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับแกนกลาง ประกอบยาว 20-30 เซนติเมตร มีใบย่อย 2-4 คู่ เป็นรูปข้าวหลามตัดแกมขอบขนาน มีความกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร โคนใบจะมีลักษณะแหลมและเบี้ยว ขอบใบเรียบ แผ่นใบจะบางแต่ค่อนข้างเหนียว ก้านใบยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร

ดอก

ดอกของต้นอัมพวานั้นจะออกดอกเป็นช่อสีขาวหรือสีครีมตามลำต้น มีกลีบเลี้ยงสีขาวอมชมพู ซึ่งจะออกเป็นช่อแบบช่อกระจะที่กิ่งขนาดใหญ่และลำต้น ช่อดอกจะห้อยยาว 3-5 เซนติเมตร เป็นดอกย่อยขนาดเล็ก โคนกลีบเลี้ยงจะเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก รูปช้อน กลีบบางเป็นริ้ว มีเกสรเพศผู้ 10 อัน เส้นผ่านศูนย์กลางของดอกประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร และก้านดอกจะมีเกล็ดสีน้ำตาลหุ้มอยู่

ผล

ผลของอัมพวาจะมีรูปร่างแบนและดูเหมือนไต ส่วนผิวของลูกอัมพวานั้นจะมีผิวที่ขรุขระเป็นตะปุ่มตะป่ำ เมื่อผลยังอ่อนจะมีสีน้ำตาลอมเขียว และเมื่อผลสุกแล้วก็จะกลายเป็นสีเหลือง มีน้ำหนักประมาณ 200 กรัม ผลดิบจะมีรสเปรี้ยวคล้าย ๆ กับมะม่วงดิบ ส่วนผลสุกนั้นจะมีรสหวานอมเปรี้ยว ซึ่งผลจะสุกหลังจากที่ออกผลมาได้แล้วประมาณ 2-3 เดือน โดยจะออกผลในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ของทุกปี

อัมพวา ผลไม้

วิธีการปลูก

1.ปลูกด้วยการเพาะเมล็ด

  • ขั้นตอนแรกให้นำเมล็ดอัมพวาแห้งมาแกะเปลือกออก เพื่อเอาเมล็ดที่อยู่ข้างใน ซึ่งเมล็ดของอัมพวานั้นจะมีลักษณะคล้ายกับเม็ดมะม่วง
  • เมื่อแกะเมล็ดอัมพวาออกแล้วก็ให้เตรียมภาชนาะที่มีฝาปิดและกระดาษทิชชู จากนั้นให้ฉีดน้ำใส่กระดาษทิชชูให้เปียกชื้น และวางใส่ภาชนะที่เตรียมไว้
  • หลังจากนำกระดาษทิชชูลงภาชนะแล้วก็ให้นำเมล็ดอัมพวาวางลงบนกระดาษทิชชูที่อยู่บนภาชนะ
  • ฉีดน้ำใส่กระดาษทิชชูแล้ววางลงภาชนะบนเมล็ดอัมพวาอีกครั้ง เพื่อบ่มเพาะให้เมล็ดมีความชื้นและรอรากออก จากนั้นก็ปิดฝาภาชนะ เก็บไว้ในที่ร่ม
  • เมื่อเมล็ดที่ทำการบ่มเพาะไว้มีรากขึ้นแล้วก็ให้นำไปปลูกได้เลย โดยใช้ดินขุยไผ่ผสมกับปุ๋ยหมักในอัตรา 2:1 ในการปลูก

2.ปลูกด้วยต้นกล้า

  • หากเราซื้อต้นกล้าหรือต้นที่มีการเจริญเติบโตพอสมควรจากร้านมาแล้ว ให้นำต้นอัมพวานั้นมาปลูกใส่กระถาง หรือจะปลูกบริเวณพื้นดินในบ้านและสวนก็ได้
  • ก่อนจะปลูกนั้นควรนำปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกละเอียดมาผสมกับดินด้วย โดยที่ไม่ต้องใส่ปุ๋ยมากเกินไป
  • ขุดหลุมให้พอดีกับขนาดของรากต้นอัมพวา จากนั้นก็วางต้นลงไปในหลุมที่ขุดไว้
  • กลบดินที่หลุม เมื่อปลูกเสร็จแล้วก็รดน้ำให้ดินมีความชุ่มชื้น จะทำให้ต้นอัมพวาได้รับน้ำอย่างเพียงพอและเจริญเติบโตได้ดี

วิธีการดูแล

แสง

ถึงแม้ว่าต้นอัมพวาจะชอบความชุ่มชื้น แต่เราก็ควรให้ต้นอัมพวานั้นโดนแสงแดดจากดวงอาทิตย์บ้าง ถ้าหากปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับใส่กระถางก็ให้นำต้นอัมพวาที่อยู่ในกระถางไปตั้งไว้ในบริเวณที่มีแสงแดดแบบรำไรก็ดี เพราะเมื่อต้นอัมพวาเติบโตขึ้นแล้วก็จะสามารถทนต่อแสงแดดได้

น้ำ

อย่างที่ทราบกันว่าต้นอัมพวานั้นจะชอบความชุ่มชื้นเป็นพิเศษ ดังนั้นหมั่นรดน้ำให้กับต้นอัมพวาอยู่เสมอ ยิ่งถ้าปลูกไว้ในที่พื้นที่ที่แห้งแล้งก็ยิ่งต้องรดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่บ่อย ๆ เพราะถ้าต้นอัมพวาได้รับน้ำอย่างเพียงพอก็จะทำให้มีการเจริญเติบโตที่ดีมากยิ่งขึ้น

ดิน

ดินที่ใช้ปลูกนั้นควรจะเป็นดินที่มีความชื้นอยู่พอสมควร พยายามปลูกต้นอัมพวาไว้ในดินที่มีน้ำหล่อเลี่ยง และถ้าพื้นดินรอบโคนต้นถูกปูด้วยอิฐมอญและเว้นช่องว่างรอบโคนต้น แล้วรดน้ำอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ต้นอัมพวานั้นเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี

ปุ๋ย

จริง ๆ แล้วต้นอัมพวานั้นเป็นพืชที่ปลูกด้วยเมล็ดได้ค่อนข้างง่าย แต่จะขึ้นช้าหน่อย ถ้าปลูกใส่กระถางก็ให้ปุ๋ยในช่วงแรก ๆ ที่ปลูก โดยใช้เป็นปุ๋ยหมักสำหรับต้นอัมพวา

ต้นอัมพวา ชื่อวิทยาศาสตร์

ประโยชน์หรือสรรพคุณอื่น ๆ

  • ผลแก่สามารถรับประทานแบบสด ๆ ได้ หรือจะนำไปต้มน้ำตาลทำเป็นสลัดผลไม้ก็ได้เช่นกัน
  • เปลือกต้นและรากสามารถนำไปใช้รักษาโรคเกี่ยวกับเลือดและโรคมะเร็งได้
  • อัมพวาเป็นพืชที่มีทรงพุ่มและใบสวยงาม สามารถปลูกไว้เป็นไม้ผลในสวน หรือจะปลูกไว้ในกระถางเพื่อเป็นไม้ประดับประเภทบอนไซก็ได้เช่นเดียวกัน
  • ในประเทศมาเลเซียจะนำผลอัมพวาไปประกอบอาหาร และทำเป็นน้ำซอสผลไม้ปรุงรสได้ด้วย
  • ผลของอัมพวายังสามารถนำไปทำเป็นผลไม้แช่อิ่มได้ด้วย ซึ่งถ้าเป็นผลอ่อนก็สามารถดองเก็บไว้
  • ผลอัมพวาสามารถทำเป็นอาหารคาวผัดกับพริก หรือจะต้มกับปลาก็ได้เช่นกัน

ราคาต่อต้นโดยประมาณ

ต้นอัมพวาที่สูงประมาณ 30 เซนติเมตร มีราคาประมาณ 200 บาท ส่วนต้นที่สูง 50-60 เซนติเมตร จะมีราคาประมาณ 500 บาท และต้นขนาดทรงพุ่ม 3-4 เมตร มีราคาประมาณ 2,000 บาท

แหล่งอ้างอิง

: http://www.lib.kps.ku.ac.th/SpecialProject/Horticulture/2547/Ms/JamluangHa/chapter4.pdf

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้